หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

ประวัติโดยสังเขปของหลวงพ่อเทียน

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เกิดที่บ้านบุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย ในวัยเด็กท่านไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะสมัยนั้นหมู่บ้านย้งไม่มีโรงเรียน แต่ท่านเป็นคนสนใจธรรมะมาตั้งแต่เล็ก จึงเป็นเหตุให้ท่านได้ศึกษาธรรมะมาหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่หายสงสัย เมื่อปี พ.ศ.2500 ท่านได้ฝึกปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบเคลื่อนไหว อันเป็นเหตุให้ชีวิตจิตใจของท่านเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จนทำให้หายสงสัยในเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งตอนนั้นอายุท่านได้ 46 ปี และยังดำรงตนเป็นฆราวาส

หลังจากนั้นท่านก็ได้นำเทคนิคที่ทำให้ท่านเข้าใจ มาเผยแผ่แก่ญาติพี่น้องและบุคคลทั่วไปเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน แล้วเมื่อปี พ.ศ.2503 ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เนื่องจากเห็นว่าธรรมะที่ท่านเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้จริงๆ การสอนในรูปแบบเป็นฆราวาสอาจจะไม่สะดวก เพราะคนยังติดสมมติ ถ้าบวชเป็นพระคงจะสะดวก ธรรมะก็คงจะไปได้กว้างไกลกว่านี้ ท่านจึงตัดสินใจบวช

หลวงพ่อเทียน

ตลอดเวลาเกือบ 30 พรรษาหลังจากที่ท่านบวชแล้วก็ได้จาริกไปในที่ต่างๆ พร้อมกับนำเทคนิคการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ไปแนะนำให้คนได้ปฏิบัติ โดยเน้นให้จิตใจอยู่กับปัจจุบัน(อยู่กับกาย) โดยอาศัยการกำหนด “ความรู้สึกตัว” ไปกับอิริยาบถของการเคลื่อนไหวเป็นหลัก จนเป็นเหตุให้มีผู้เข้าใจสัจธรรมเข้าใจชีวิตและหายสงสัยในเรื่องพุทธศาสนามากมาย ทั้งในและต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อปีวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อก็ได้มรณะภาพอย่างสงบ ณ สำนักปฏิบัติธรรมเกาะทับมิ่งขวัญ บ้านติ้ว ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ชึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ที่หลวงพ่อได้ทุมเทแรงกายแรงใจสร้างขึ้นในวาระสุดทัายของชีวิตรวมอายุได้ 77 ปี และบวชได้ 28พรรษา

หลวงพ่อเทียนกับวัดสนามใน

“วัดสนามในนี้ เริ่มแรก อาตมามาจำพรรษาที่วัดชลประทาน ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมฐานที่วัดชลประทาน เจ้าคุณปัญญาพร้อมด้วยเจ้าคณะจังหวัดเลย และคณะสงฆ์อื่นๆ ลงมติให้อาตมามาจำพรรษาที่วัดชลประทาน เมื่อมาจำพรรษาที่วัดชลประทาน ก็ปรากฏว่ามีโยมคนหนึ่ง คือคุณวิโรจน์ ศิริอัฐิ และมหาสุขสันต์ เล่าเป็นประวัติเรื่องวัดสนามในนี้ เป็นวัดร้างมา ไม่มีพระ ไม่มีเณร รกรุงรัง ใครมาก็กลัวว่ามีผี มีอะไรต่าง ๆ ไม่มีคนเข้ามา เมื่อได้พูดตกลงกันแล้ว อาตมาก็ให้ลูกศิษย์หลายท่านเข้ามาอยู่ที่ตรงนี้

ทีแรกอาตมาก็ยังมาไม่ได้ เพราะยังมีการเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดชลประทาน ก็ต้องจำพรรษาที่วัดชลประทานอีก ๑ ปี พร้อมกันทั้ง ๒ ปี ปีแรก กับปีที่ ๒ ก็เลยมาจำพรรษาที่ตรงนี้ เมื่อมาจำพรรษาที่ตรงนี้ ก็อยากให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เพราะว่าวัดต่างๆนั้นมีการก่อสร้างวัตถุกันมาก เช่น โบสถ์ เจดีย์ อะไรต่างๆนั้นสร้างกันมากแล้ว

ที่วัดสนามใน ไม่ต้องสร้างอะไรให้มาก เพราะว่าเราจะดูธรรมชาติ ต้นไม้ หรือใบไม้ พื้นดินมันทำประโยชน์อะไรให้คนได้ เมื่อเรามาศึกษาที่ตรงนี้ ก็พร้อมๆ กันกับลูกศิษย์หลายท่าน ได้ตกลงกันเอาไว้ว่า ไม่ต้องสร้างอะไรมาก เพียงมีกุฏิเล็กๆนอน แล้วก็พอกันแดดกันฝนเล็กๆ น้อยๆ เมื่อตกลงกันเช่นนั้น ก็ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึงบัดนี้ เมื่อถึงตอนนี้ก็ยังคงที่ พื้นที่ก็ยังเหมือนเดิม เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น วัดนี้จึงเป็นสถานที่ปฏิบัติ ทุกคนมาปฏิบัติได้ วิธีปฏิบัติธรรมะก็ไม่เหมือนกันกับที่อาจารย์อื่นๆ ที่สอนกันมาวิธีที่อาจารย์อื่นๆ ที่สอนกันมานั้น ตัวของอาตมาเองหรือตัวของผมเองก็เคยปฏิบัติมาไม่น้อย ระยะเมื่อเป็นโยมอยู่ เคยรักษาศีลเคยให้ทาน เคยทำกรรมฐานมา แต่ไม่รู้ว่าให้ทานคืออะไรรักษาศีลคืออะไร ทำกรรมฐานคืออะไรไม่รู้ เพียงทำตามครูอาจารย์มาเท่านั้นไม่เกิดสติ ไม่เกิดปัญญา ไม่เห็นแจ้ง ไม่รู้จริง

ที่วัดสนามใน ความเป็นอยู่ของพระเณร ตอนเช้า ตีสี่ ต้องตีระฆัง ทำวัตรเช้า พอดีทำวัตรเสร็จ ก็อบรมกันน่ะ ให้โอวาทแนะนำแนวปฏิบัติกันภายใน ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที แล้วแต่โอกาสที่จะเหมาะสม เมื่อให้โอวาทพอเหมาะพอควรแล้ว ก็ออกไปบิณฑบาต เมื่อไปบิณฑบาตมาแล้ว อาหารตกใส่บาตรมาทุกคน แม้ปัจจัยก็ตาม โดยมากคนกรุงเทพชอบมีปัจจัยใส่ในบาตร ไม่เหมือนกับอย่างที่บ้านนอก อย่างที่ชนบทบ้านนอกไม่ค่อยมี คนกรุงเทพต้องมีสตางค์ มีซอง มีซองปัจจัยมาใส่ในบาตร เมื่อมาถึงก็เก็บออกให้หมด เก็บปัจจัยออกในบาตรอาหารเก็บออกในบาตร มีกะละมังคอยรับไว้ แล้วคนหนึ่งก็คอยเก็บเอาอาหารจากกะละมังมาไว้ให้เป็นล้อ ยู้ไป (ผลักไป) แน่ะ… แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่ง ก็เอาไว้กิน…ฉันกลางวัน ส่วนนึงก็เอาไว้ฉันตอนเช้า เสร็จแล้วต้องตีระฆังสัญญาณ พระเณรก็เดินมาฉัน เมื่อฉันแล้วพระเณรก็ไปล้างถ้วยล้างจานเอาเอง ล้างบาตรตัวเอง มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็มาทำธุระหน้าที่ของตัวเองปฏิบัติตัวเอง รู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง ต้องมีหน้าที่อย่างนั้น -วัดสนามใน

ตอนกลางวันก็เหมือนกัน ตอนเช้าก็เหมือนกัน… ตอนเย็นบัดนี้ เวลาตีสี่ เอ้อ…เวลาสี่โมงหรือห้าโมง ก็ต้องตีระฆัง ทำวัตรเย็นกัน เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ก็จะมีการ

อบรมกัน ให้ข้อคิดเตือนจิตสะกิดใจกัน เพื่อให้รู้ ให้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่จะมาเล่นๆ แต่โดยมากวัดสนามในไม่เดือดร้อน เพราะว่าไม่มีอติเรกลาภมาก ไม่มีคนอยากเข้ามาอยู่ มาอยู่ก็เฉพาะบุคคลที่ต้องการปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติเพื่อรู้ คนที่ไม่อยากรู้ ก็มาอยู่ลำบากลำบน รำคาญ เอ้า…ไม่อยากอยู่

ดังนั้น ที่มาอยู่น้อยๆ อย่างที่ร่มไม้ ต้นไม้ มันเป็นธรรมชาติของมันแล้วเราก็มาศึกษากับธรรมชาติได้ หลักพุทธศาสนารวมลัดๆ สั้นๆ จับใจความได้ทันที”

(คัดจากแถบบันทึกเสียง รหัส ท.๑๙)